เหตุใดนักโบราณคดีรั้งรอ ไม่ยอมเปิดสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้เสียที

สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานเมื่อวันที่ 13 ม.ค. ที่ผ่านมาว่า มีการขุดพบทหารดินเผาเพิ่มอีก 220 ตัว พร้อมด้วยม้าดินเผาและรถม้าดินเผาอีกจำนวนหนึ่ง ในบริเวณใกล้กับสุสานของฉินสื่อหวงตี้ หรือ “จิ๋นซีฮ่องเต้” จักรพรรดิพระองค์แรกผู้รวบรวมแผ่นดินจีนให้เป็นหนึ่งเดียว

นับแต่มีการค้นพบกองทัพทหารดินเผาและสุสานของปฐมจักรพรรดิเมื่อปี 1974 ที่มณฑลส่านซีของจีน อันถือเป็นการค้นพบทางโบราณคดีครั้งสำคัญของศตวรรษที่ 20 บรรดานักโบราณคดีสามารถขุดค้นหลุมฝังเครื่องสังเวยและของมีค่า รวมทั้งรูปปั้นทหารดินเผาได้เพิ่มเติมอีกเป็นจำนวนมาก

แต่ตลอดระยะเวลาเกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีผู้ใดเอ่ยถึงการเปิดสุสานที่ฝังพระศพของจิ๋นซีฮ่องเต้ ซึ่งอยู่ใต้เนินดินใหญ่คล้ายภูเขาลูกย่อม ๆ ใกล้กับหลุมที่ค้นพบกองทัพทหารดินเผาเลย ทั้งที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์มากมายบ่งชี้ว่า ภายในสุสานอายุเก่าแก่กว่า 2,200 ปีแห่งนี้ เต็มไปด้วยสิ่งล้ำค่าและสิ่งประดิษฐ์ที่น่าอัศจรรย์ ซึ่งท้าทายและเชิญชวนให้นักโบราณคดีเข้าไปสำรวจอย่างยิ่ง

ซือหม่าเซียน นักจดบันทึกประวัติศาสตร์ในยุคราชวงศ์ฮั่นและผู้แต่งพงศาวดาร “สื่อจี้” ได้ระบุเอาไว้ว่า สุสานของปฐมจักรพรรดินั้นอยู่ที่ฐานของโครงสร้างคล้ายพีระมิดขนาดใหญ่ที่มีความสูงถึง 50 เมตร ภายในเต็มไปด้วยกลไกและกับดักต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้บุกรุกเข้าไปได้

ในส่วนของห้องบรรจุพระศพนั้น ซือหม่าเซียนบรรยายเอาไว้อย่างวิจิตรพิสดารว่า หีบพระศพของจิ๋นซีฮ่องเต้ตั้งอยู่ท่ามกลางสภาพภูมิประเทศจำลองของจักรวรรดิฉินทั้งหมด ซึ่งมีตั้งแต่ภูเขาไปจนถึงแม่น้ำและทะเลปรอทที่ไหลเวียนได้อยู่ตลอดกาล เพดานของสุสานยังประดับประดาด้วยอัญมณีหลากชนิด ซึ่งทำขึ้นเลียนแบบดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ รวมไปถึงดวงดาวจำนวนนับไม่ถ้วนบนท้องฟ้า

หลังโลกเริ่มต้นยุคศตวรรษที่ 21 ได้ไม่กี่ปี ทีมสำรวจของศาสตราจารย์ เจฟฟรีย์ รีเจล จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียวิทยาเขตเบิร์กลีย์ (UC Berkeley) ของสหรัฐฯ ได้ลงมือสุ่มตัวอย่างดินหลายจุดบนเนินเขาที่ฝังพระศพ เพื่อนำมาวิเคราะห์ทางเคมีในห้องปฏิบัติการ ซึ่งผลปรากฏว่าดินมีความเข้มข้นของปรอทในปริมาณสูงอยู่หลายจุด

สิ่งที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่งก็คือ ตำแหน่งของตัวอย่างดินที่อิ่มด้วยไอปรอทซึ่งระเหยขึ้นมาจากใต้เนินฝังพระศพ เรียงตัวเป็นรูปทรงของทะเลป๋อไห่หรืออ่าวในทะเลเหลืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งตรงกับรูปทรงของภูมิประเทศตามแผนที่ยุคปัจจุบันไม่ผิดเพี้ยน ถือเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชิ้นหนึ่งที่ยืนยันว่า มีห้วงน้ำจำลองขนาดใหญ่ที่ทำจากปรอทในสุสานของจิ๋นซีฮ่องเต้จริง

รายงานวิจัยอีกฉบับหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports เมื่อปี 2020 ชี้ว่าสุสานแห่งนี้เป็นแหล่งเก็บปรอทปริมาณมหาศาลเช่นกัน โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยศึกษาศาสตร์จีนใต้ (SCNU) ใช้อุปกรณ์สำรวจและวัดระยะด้วยเลเซอร์ (LIDAR) ตรวจสอบความเข้มข้นของไอปรอทในบรรยากาศเหนือสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ จนพบว่ามีความเข้มข้นสูงสุดถึง 27 นาโนกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าค่าการปนเปื้อนในสภาพแวดล้อมปกติของท้องถิ่นเกือบ 3 เท่า

“ปรอทที่ระเหยเป็นไอได้ง่าย อาจแทรกซึมขึ้นมาด้านบนผ่านรอยแตกในโครงสร้างของสุสานที่ผุพังไปตามกาลเวลา ผลการสำรวจของเราชี้ว่ายังคงมีปรอทในรูปของเหลวปริมาณมหาศาลภายในสุสาน ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าสถานที่แห่งนี้ไม่เคยถูกเปิดออกหรือมีผู้บุกรุกเข้าไปมาก่อนเลย” ทีมผู้วิจัยของจีนกล่าวสรุป

ผลการสำรวจเบื้องต้นจากภายนอกดังกล่าว แม้จะน่าตื่นเต้นและเย้ายวนให้นักโบราณคดีเร่งขุดค้นเพื่อจะได้เปิดเข้าไปชมสุสานที่ยิ่งใหญ่อลังการในทันที แต่ในความเป็นจริงแล้ว ข้อมูลเหล่านี้กลับทำให้พวกเขาเกิดความลังเลและหวั่นกลัว ยังไม่กล้าที่จะเปิดดูสุสานของปฐมจักรพรรดิในเร็ววันนี้

สาเหตุประการแรกที่นักโบราณคดีรั้งรอ ไม่ยอมเปิดสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ออกทำการสำรวจเสียทีนั้น เนื่องมาจากพวกเขายังไม่มีวิธีการที่ดีพอในการรักษาวัตถุโบราณให้คงสภาพเมื่อสัมผัสกับอากาศภายนอก ดังจะเห็นได้จากกรณีของหุ่นทหารดินเผาซึ่งมีสีสันงดงามเมื่อแรกขุดพบ แต่สีดังกล่าวได้สลายตัวไปในชั่วพริบตา จนเหลือเพียงเนื้อดินเผาสีเทาแบบที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

หากคุณต้องการติดตามข่าวสารอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกสามารถติดตามได้ที่ pleodinosaur.com