ประธานสภา เป็นตำแหน่งผู้นำสูงสุดของฝ่ายนิติบัญญัติของไทย มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นที่ได้กำหนดไว้ เป็นผู้ดำเนินกิจการของรัฐสภาในกรณีประชุมร่วมกันให้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา และยังเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายรัฐสภา รัฐสภาไทยประกอบด้วยวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรโดยมีประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง

ประธานสภา มีอำนาจหน้าที่

ตามข้อบังคับการประชุมของรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อที่ 5 ประธานรัฐสภามีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

  1. เป็นประธานของที่ประชุมรัฐสภา และต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่
  2. กำหนดการประชุมรัฐสภา
  3. ควบคุมและดำเนินกิจการของรัฐสภา
  4. รักษาความสงบเรียบร้อยในที่ประชุมรัฐสภาตลอดถึงบริเวณของรัฐสถา
  5. เป็นผู้แทนรัฐสภาในกิจการภายนอก
  6. แต่งตั้งกรรมการเพื่อดำเนินกิจการใด ๆ ตาม (7)
  7. หน้าที่และอำนาจอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้หรือตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้

ความคาดหวังของนักกิจกรรมและนักวิชาการ

ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักเคลื่อนไหวทางการเมือง อดีตสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กล่าวถึงความคาดหวังต่อประธานสภาว่า “ถ้าพูดในมุมขบวนการเคลื่อนไหว จากข้อเรียกร้องทั้งสามข้อ ข้อแรกตัดไปแล้ว เรื่องพลเอกประยุทธ์ออกไป ข้อเรียกร้องที่สองเรื่องรัฐธรรมนูญยังไงก็ต้องเอาไปพูดในสภา ข้อสามเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ก็ต้องเอาไปพูดในสภาเหมือนกัน คือมันเคยมีคำพูดในตอนหาเสียงว่า จะเอาไปพูดในสภาเพื่อหาทางออกร่วมกัน”

“ที่ผ่านมาการพูดเรื่อง 112 หรือการพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ คนที่เป็น ส.ส. พอพูดในสภาก็จะถูกขัดขวาง ก็ทำให้ข้อเรียกร้องของประชาชนไม่ถูกเอาไปดำเนินการต่อ”

“ตอนที่คุณชวน (หลีกภัย) ปัดตก (ร่างกฎหมายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112) เราก็เห็นว่าไม่สมควร ในฐานะของประชาชนที่เรียกร้องเรื่องนี้ เราเข้าใจว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เรื่องที่คนอาจจะกลัวกัน ถึงจะเป็นผู้แทนของประชาชนแต่กลัว เราก็เข้าใจได้ แต่ในขณะเดียวกัน คนที่เรียกร้องข้างนอกเป็นประชาชนตัวเล็ก ส่วนคนข้างในเป็นคนที่มีอภิสิทธิ์ในการพูดมากกว่า มีเอกสิทธิ์ป้องกันตัวเอง เลยอยากให้เขาดูเปรียบเทียบกันว่า ทำไมคนข้างนอกถึงยอมเสียแรง เปลืองตัว ต้องขึ้นศาล เข้าคุก เพื่อพูดถึงเรื่องนี้ว่า อย่างน้อยแก้ 112 หน่อยสิ”

เราคิดว่าคนตัวใหญ่ ควรมีใจที่ใหญ่กว่า และทำตัวให้แข็งแรง เข้มแข็งมากกว่าคนที่เป็นตัวเล็กซึ่งอยู่นอกรั้วสภา คุณมีทุกอย่างพร้อมตรงนั้น จงใช้มันเพื่อประชาชน

“ในฐานะประชาชนที่ดูการประชุมสภา เราคาดหวังว่าควรจะเป็นคนที่สามารถควบคุมการประชุมได้อย่างดี และเลือกไม่เข้าข้างพวกตัวเอง คุณเป็นประธานก็ต้องเป็นประธานจริงๆ เหมือนตอนเราทำสภานักศึกษา ถึงประธานจะมาจากพรรคเราเองก็ตาม แต่ต้องวางตัวเป็นกลางและวางตัวให้ดี เหมือนตอนการอภิปรายของ ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ ที่โดนขัดไปหมด แทนที่จะได้พูด มีเวลาพูด แล้วไม่ได้ ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญของประชาชนทั้งนั้น”

“เราคาดหวังว่า ประธานสภาคนต่อไปจะเป็นคนที่สามารถดูแลการประชุมสภา แต่สิ่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับประชาชนคือ การดูแลพื้นที่รอบสภา พวกเราไปชุมนุมกันบ่อย เพราะว่ามีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสภา เราก็เลยต้องไปตรงนั้น คือมันมีไอเดียที่ว่า สภาผู้แทนราษฎรควรเป็นพื้นที่หรือควรจะสร้างพื้นที่ให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการแสดงออกหรือการตัดสินใจทางการเมืองด้วย”

“ก่อนช่วงปี 63-64 เราเคยไปชุมนุมที่สภา ตอนนั้นที่เราเข้าไปคุยกับตำรวจ เขาก็พูดให้เราฟังว่า จริงๆ ในผังของสภามีพื้นที่ที่เอาไว้เป็นพื้นที่ของประชาชนเข้ามาแสดงออกในรั้วของสภาได้ ตอนนั้นเราก็รอดูว่าจะเป็นยังไง แต่สุดท้ายก็ไม่ได้มีใครพูดอะไรออกมา เราก็อยากถามว่า พื้นที่ทั้งหมดของสภามีพื้นที่ไหนไว้ให้ประชาชนบ้าง เพราะว่าสุดท้ายแล้ว ประชาชนก็ต้องเดินทางมาสภาเวลาไปยื่นหนังสือ ไปร้องเรียนอะไรก็ตาม มันก็ต้องมาที่นี่ แล้วทำไมไม่มีพื้นที่ให้ประชาชนบ้าง เราคิดว่าตรงนี้ อยากให้มีประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ”

“ถ้าสามารถเปิดพื้นที่ได้ มีการดูแลผู้ชุมนุมให้ปลอดภัย ทำให้สภารู้สึกว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยของพวกเขาได้ ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้ มันจะกลายเป็นอีกหมุดหมายหนึ่งของการเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตย และจะเป็นการสร้างความปกติใหม่ให้กับสังคม ไม่ให้คนคิดว่าการชุมนุมเป็นความผิดปกติในสังคม”

“ประธานสภาควรจะเข้ามามีบทบาทในการประสานงานกับตำรวจด้วย เราคิดว่าเขาน่าจะทำได้ ว่าพื้นที่สภาเป็นพื้นที่ของประชาชน เข้ามาได้ อย่าไปทำร้ายประชาชน และดูแลกันในสภาอีกทีหนึ่ง เราคิดว่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ดีมาก และคุณจะได้ใจจากประชาชนเยอะมาก”

“เราคิดว่า วิสัยทัศน์เขาต้องจดจำตัวเองให้ได้ว่า เขามาจากการเลือกตั้งของประชาชน เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง เขาต้องเข้าใจสถานะเก้าอี้ของตัวเองว่า เขาต้องทำอะไร และเขาต้องทำหน้าที่ให้สมบูรณ์โดยไม่เลือกปฏิบัติ และเขาต้องช่วยเหลือดูแลในการต้อนรับประชาชนให้เข้ามาใช้พื้นที่ในสภา”

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ

ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม หนึ่งในผู้พยายามผลักดันกฎหมายผ่านกลไกสภา กล่าวถึงความคาดหวังต่อตำแหน่งประธานสภาว่า “ลักษณะของประธานสภาที่คิดว่าเหมาะสมคือ เป็นประธานสภาที่มาจากพรรครัฐบาล และหลังจากที่ได้รับตำแหน่งประธานสภาแล้ว จะต้องไม่วางตัวให้ดูเป็นคนของพรรครัฐบาลมากเกินไป จะต้องปรับปรุงกิจการของรัฐสภา ไม่ใช่แค่กิจการทางการเมือง”

“กิจการของรัฐสภา ในที่นี้หมายถึงวิธีการจัดสถานที่ หรือวิธีการทำให้สภาเป็นมิตรกับประชาชน ทางเข้าออก เรื่องตำรวจรัฐสภาจะมีการอบรมเรื่องการเคารพสิทธิในการชุมนุม หรือการให้สภาเป็นของประชาชนจริงๆ เช่น มีพื้นที่ให้เข้าไปนั่งสังเกตการณ์ ไม่ใช่ดูแต่ทีวี และส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งกับรัฐสภา”

“ช่วงที่ยื่นผลักดันกฎหมายให้มีการพิจารณาในสภา ต้องมีการยื่นหนังสือต่อประธานสภาหลายครั้ง เพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหาย (ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย) ถูกบรรจุอยู่ในระเบียบวาระการประชุมของสภา แต่ก็พบว่ากฎหมายที่ขับเคลื่อนนั้นมักจะได้อยู่วาระท้ายๆ ตลอด”

แม้เรื่องของการบรรจุวาระการประชุมจะต้องผ่านในการประชุมของวิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และประธานสภา แต่ถ้าประธานสภาเป็นคนที่มีความเข้าใจในปัญหาของภาคประชาชน จะต้องช่วยทำหน้าที่ตรงนี้ได้ แต่ถ้าได้ประธานสภาที่ไม่เข้าใจปัญหาของประชาชน ก็จะไม่รู้ว่าเมื่อไรที่วาระของประชาชนได้เข้าพิจารณา

“อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่มีพลังมากพอในการผลักดันประเด็นของประชาชน”

“เราเห็นว่าที่ผ่านมามันตื่นตัวมากขึ้นแล้ว แต่การมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงยังมีน้อยอยู่ คิดว่าถ้าเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในหลายๆ มิติ ไปสังเกตการประชุม มีห้องสมุดรัฐสภาที่เข้าออกง่าย ไม่ใช่ต้องผ่านขั้นตอนอะไรเยอะแยะ ทำยังไงให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย นี่เป็นหน้าที่ของประธานสภา”

“รวมทั้งอีกหลายเรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่คือ เรื่องของการล่วงละเมิดทางเพศหรือการเลือกปฏิบัติ หรือการเลือกปฏิบัติต่อสตรีอันอาจจะเกิดขึ้นจากผู้แทนทั้งสองสภา คิดว่ามีหลายเรื่องที่แม้แต่รัฐสภาอังกฤษ รัฐสภาประเทศอื่นๆ ก็มีปัญหา ดังนั้น ช่องทางการร้องเรียนเรื่องเกี่ยวกับภายในสภาต้องเปิดกว้าง”

“จริงๆ อยากได้ประธานสภาเป็นผู้หญิง เพราะเห็นว่าผู้หญิงมีบทบาทในสภาเยอะขึ้น อย่างน้อยถ้าไม่ได้ประธานสภาเป็นผู้หญิง ก็อยากให้มีรองประธานสภาเป็นผู้หญิง เพราะหลายครั้งเราจะเห็นว่า มีการตัดสินใจผ่านความคิดผู้ชายมาโดยตลอด”

ศรีสุวรรณ จรรยา

ผู้ก่อตั้งองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน และอดีตเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวถึงตำแหน่งประธานสภาว่า “คนที่อาสาเข้ามาเป็นประธานสภา ซึ่งจะเป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่งด้วย ควรจะป็นคนที่รู้กรอบกฎหมาย รู้ระเบียบข้อบังคับ ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่ศึกษากันได้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็น ส.ส. หลายสมัย ถ้า ส.ส. สมัยเดียว มีความตั้งใจ มีความมุ่งมั่น ก็ทำได้ แต่มันขึ้นอยู่กับเสียงของสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดว่าจะให้ใครมาเป็นผู้นำ”

“ที่ผ่านมา ผมไปร้องประธานสภา ก็เป็นประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมของ ส.ส. เหตุที่ต้องไปยื่นกับท่านประธานก็เพราะคณะกรรมการสอบจริยธรรมของสภาผู้แทนราษฎร มีประธานสภาเป็นประธานโดยตำแหน่ง แต่ที่ผ่านมา ก็ต้องบอกตรงๆ ว่า ค่อนข้างจะผิดหวัง ต่อการทำหน้าที่ของประธานสภา”

“ที่ผ่านมาไม่เคยปรากฏว่า คณะกรรมการสอบจริยธรรมจะสามารถลงโทษจริยธรรม ส.ส. ได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอัน ส่วนที่ถูกลงโทษจริยธรรมมาจากช่องทางอื่นๆ เช่น ป.ป.ช. ไม่ว่าจะเป็น คุณปารีณา (ไกรคุปต์) พวกเสียบบัตรแทนกัน หรือ ส.ส. หลายคน ที่ผมไปร้องเรียนจริยธรรมต่อ ป.ป.ช. แล้ว ป.ป.ช. สรุปเรื่องฟ้องต่อศาล จนศาลลงโทษไปได้ ในขณะที่ผมร้องไปที่ประธานสภา แต่ละเรื่องกลับถูกยกคำร้อง คำร้องไม่มีมูล ไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอให้วินิจฉัยบ้าง”

“มันสะท้อนให้เห็นว่า เขาเป็น ส.ส. ด้วยกัน พวกเขาก็ลูบหน้าปาดจมูก หยิกเนื้อก็เจ็บเนื้อ เขาก็เลยไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบพวกเดียวกันเอง บทบาทหน้าที่ของประธานที่ต้องเข้มในเรื่องแบบนี้ เพราะมันสะท้อนให้เห็นเกียรติภูมิและชื่อเสียงของฝ่ายนิติบัญญัติ พอท่านไม่คิดจะทำตรงนี้ มันก็ไม่มีผลงานในการเอาผิดจริยธรรม”

คนที่อาสามาชิงตำแหน่ง ควรจะมีวิสัยทัศน์สอดรับกับสถานการณ์ทางการเมือง สถานการณ์โลก ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการทำงานฝ่ายนิติบัญญัติ ที่จะต้องอิงกับประชาชน หรือเสียงเรียกร้องของประชาชน ซึ่งประชาชนหลายกลุ่ม พยายามจะแสดงออกผ่านนิติบัญญัติ เช่น การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เขาก็อยากจะเห็นว่า กระบวนการเข้าชื่อแล้วมีมรรคผลโดยเร็ว

“ที่ผ่านมาก็มักจะถูกดึงเรื่องให้ล่าช้า เช่น การตรวจสอบคุณสมบัติบ้าง จนบางทีบางคนลืม แต่ถ้าประธานคนใหม่ ท่านจะแสดงวิสัยทัศน์ในเรื่องระเบียบขั้นตอนให้รวดเร็วมากขึ้น ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ไม่ว่าจะเข้าชื่อเสนอกฎหมาย 10,000 รายชื่อ หรือเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50,000 รายชื่อ ผมอยากเห็นภาพการทำงานของประธานสภาให้เกิดความรวดเร็ว และประชาชนสามารถติดตามความคืบหน้าได้ ก็จะเป็นภาพลักษณ์ใหม่ของฝ่ายนิติบัญญัติ”

“ในการพิจารณากฎหมายทุกฉบับ ไม่ว่าจะฝ่าย ส.ส. พรรคการเมือง หรือ ประชาชนเสนอ ควรจะมีส่วนให้ประชาชนได้เสนอแนะ เพราะไม่จำเป็นว่าประชาชนจะต้องไปเสนอแนะเฉพาะกฎหมายที่ตัวเองเสนอเท่านั้น ดังนั้น กฎหมายทุกฉบับที่เข้าสู่การพิจารณา ควรจะเปิดให้ประชาชนได้มีช่องทางในการช่วยให้ความเห็น ซึ่งมันก็เป็นข้อมูลที่ดีให้กับ ส.ส. เพื่อใช้ประกอบการอภิปรายคัดค้านหรือสนับสนุนกฎหมายฉบับนั้นๆ”

“ผมอยากให้ประธานสภาของ ส.ส. และเป็นประธานสภาของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ทั้งคนที่มีสิทธิเลือกตั้ง และคนที่ยังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง 70 ล้านคน ถ้าเราได้ประธานสภาที่เป็นที่ยอมรับ ที่ไม่ได้มาจากเกมการเมือง ผมว่ามันจะสง่างาม และเป็นที่น่าชื่นชม”

ประธานสภา

รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง

อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงตำแหน่งประธานสภาไว้ว่า “ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภามันเป็นระบบเชื่อมโยงอำนาจ (fusion of powers) ฝ่ายบริหารมาจากความยินยอมของประชาชน (สภาผู้แทนราษฎร) ดังนั้น พรรคที่ชนะเลือกตั้งจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนจึงต้องมีอำนาจในการออกกฎหมาย หรือพูดง่ายๆ ว่า จะต้องสามารถควบคุมเสียงในสภาได้ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกันระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ ให้ฝ่ายบริหารสามารถทำงานได้ มันถือเป็นหลักการทั่วไป”

“ในระบบเชื่อมโยงอำนาจ หัวหน้าฝ่ายบริหารต้องคุมเสียงในสภา เพราะเป็นกลไกสำคัญในการทำให้นโยบายที่หาเสียงออกมาเป็นกฎหมาย ดังนั้น พรรคที่เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องเข้าคุมอำนาจฝ่ายบริหารและอำนาจนิติบัญญัติเพราะสอดคล้องกัน อย่างพรรคก้าวไกลยิ่งชัดเจนมากว่า การทำงานของฝ่ายบริหารมันเชื่อมโยงกับการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะเขาต้องการออกกฎหมาย แก้กฎหมาย เลิกกฎหมาย หรือแก้รัฐธรรมนูญ”

“ที่พูดมามันเป็นหลักการซึ่งเถียงกันได้ แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือ การถกเถียงจากทั้งคุณอดิศร (เพียงเกษ) ก็ดี คุณเฉลิม (อยู่บำรุง) ก็ดี เป็นเหตุผลแบบข้างๆ คูๆ ว่า ประธานสภาเหมือนหัวหน้าห้อง มีหน้าที่คุมนักเรียน หรือเหมือนนักเลงหัวไม้คุมบ่อน มันดูไม่มีหลักการในเชิงสากล”

“ในการเป็นผู้นำการประชุมสภา ผมคิดว่า มันมีกฎระเบียบ กติกา มารยาท อยู่แล้ว หรือถ้าเถื่อนกันมาก ก็มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย อย่างอดีตมีกรณีคุณรังสิมามาดึงเก้าอี้ประธานสภา ก็มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยช่วยจัดการไป มันมีกลไกให้ประธานสภาใช้ได้ สั่งการได้ ไม่ต้องการนักเลงหัวไม้ หรือหัวหน้านักเลงมาตวาดแล้วให้ทุกคนเงียบ มันใช้ความเป็นทางการ กฎระเบียบ กติกา มารยาท ซึ่งผู้ที่เป็น ส.ส. ก็ควรจะมีมารยาทมากกว่าคนปกติทั่วไป”

“ผมคิดว่า เราต้องการประธานสภาซึ่งมีวิสัยทัศน์ที่จะปฏิรูประบบรัฐสภา อย่างกลไก ’กรรมาธิการ’ สิ่งที่มันเป็นอยู่ ผมก็เห็นว่ามีปัญหา เราก็มีทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกัน และมีจำนวนมากเกินไป ไม่นับรวมกรรมาธิการวิสามัญที่จะตั้งเพิ่มขึ้นมาทั้งเร่งด่วนและไม่เร่งด่วน ดังนั้น ประธานสภาควรไปปฏิรูปกลไกนี้ให้มันมีจำนวนไม่มาก และอย่าให้มันเป็นที่จัดสรรผลประโยชน์ของพรรคการเมือง”

“ผมอยากเห็นการปฏิรูปกลไกกรรมาธิการให้มันไปหนุนเสริมการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติให้มันมีประสิทธิภาพ เกิดมรรคผล ให้กรรมาธิการเป็นที่รองรับการศึกษาข้อมูล การตรวจสอบข้อมูล เช่น ปัญหาที่ดินป่าไม้ หรือข้อร้องเรียนต่างๆ เพื่อให้เกิดการศึกษาวิจัยหาข้อเสนอที่จะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย หรือการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการ ไม่อยากให้เสียเงินงบประมาณไปโดยใช่เหตุ หรือเป็นที่ทำมาหากินของพวก ส.ส. สอบตก”

การปฏิรูประบบรัฐสภาควรจะมีฐานคิดจากการขยายอำนาจจากผู้แทนหรือตัวแทนไปสู่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจโดยตรง

“อย่างประชาธิปไตยในตะวันตกเขาไปไกลมาก อย่างเช่น การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย การมีสภาพลเมือง ดังนั้น ผมอยากให้ประธานสภามีวิสัยทัศน์ที่จะขยายประชาธิปไตยจากตัวแทนไปสู่ประชาชนให้มากขึ้น”

“ในอดีตเราเคยมีสภาพัฒนาการเมืองที่จะสนับสนุนภาคประชาชนในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เพราะมันมีค่าใช้จ่าย รวมไปถึงการสนับสนุนในเชิงเทคนิคการร่างกฎหมายให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน มันควรจะมีองค์กรในรัฐสภาที่ทำหน้าที่สนับสนุนทั้งทรัพยากรและงบประมาณ เพื่อให้ประชาชนทำเรื่องพวกนี้ได้ มันจะทำให้สภาสามารถทำงานได้อย่างสอดคล้องกับสภาวะปัจจุบัน เพราะบางเรื่องประชาชนก็อาจจะรู้ดีกว่า”

“ที่ผ่านมามีปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่อยู่ในความรับผิดชอบของประธานสภาเกี่ยวกับการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย คือ การมีวิสัยทัศน์ที่คับแคบของประธานสภา เช่น การใช้อำนาจในการวินิจฉัยว่า กฎหมายที่ประชาชนเสนอไม่อยู่ในหมวด 3 (สิทธิเสรีภาพ) และหมวด 5 (แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ) แล้วปัดตก อย่างกรณีการเสนอแก้ไข (ประมวลกฎหมายอาญา) มาตรา 112 ประธานสภาก็เคยวินิจฉัยว่ามันไม่เกี่ยวกับหมวด 3 หรือ หมวด 5 ก็ปัดตกไป อะไรแบบนี้ มันสะท้อนถึงความคับแคบ หรืออย่างการเข้าชื่อเสนอกฎหมายที่เกี่ยวกับมาตรา 190 (รัฐธรรมนูญ ปี 2550) เรื่องการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ก็ถูกปัดตก เพราะไม่เกี่ยวกับนโยบายแห่งรัฐ”

ศ.ธเนศวร์ เจริญเมือง

ศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงตำแหน่งประธานสภาว่า “เราต้องรู้ก่อนว่า ระบบรัฐสภาของโลกมีมาหลายร้อยปีแล้ว และอเมริกามีสองพรรคใหญ่ ใครได้คะแนนเสียงข้างมากก็เป็นประธานสภา คราวนี้ในประเทศอื่น หลายประเทศมีสัก 4-5 พรรค ก็เลยเจรจาต่อรองกัน แล้วแต่ว่าช่วงไหนใครสะดวก บางครั้งก็เอาคนเสียงข้างมากเป็นประธานสภา บางครั้งก็เอาคนที่เป็นกลาง บางครั้งก็เอาคนคะแนนน้อยๆ เพราะไม่มีฐานมาเป็น”

“กรณีของไทยที่ผมจงใจเขียนโพสต์เป็นพิเศษครั้งนี้ เพราะครั้งนี้พิเศษมาก พรรคประชาธิปไตยรวมกัน 8 พรรค ได้คะแนนเสียงชัดเจน แต่ปัญหาประเทศไทยคือ 76 ปีที่ผ่านมา เรามีรัฐประหารถึง 13 ครั้งแล้ว และทุกครั้งก็ทำให้พรรคอ่อนแอ เพราะว่าพรรคร่วมสลายกระจัดกระจายกันหมด เพราะฉะนั้นเราจะเอาพรรคหนึ่งเป็นประธานสภา อีกพรรคหนึ่งเป็นฝ่ายบริหารนั้นไม่ถูก เพราะภาพไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน”

ผมคิดว่าพรรคเพื่อไทยเอง ไม่เคยมีประสบการณ์แพ้มาก่อน 20 ปีมานี้ เขาชนะตลอด และพรรคเพื่อไทยเห็นว่าคะแนนสูสีกัน บางคนก็รู้สึกเสียหน้า ‘แหม่ จะเอาทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายสภา แบ่งให้เราสิ’

“ผมคิดว่าจะไปคิดเล็กคิดน้อยทำไม ให้เขาไปเลย ตัวเองก็ตั้งหน้าตั้งตาทำงานให้ดี ผู้ชนะทำงานดี ประชาชนชอบอย่างนี้ได้ไหม”

“อีกอย่างหนึ่งที่เด่นมากคือพรรคก้าวไกลเสนอแก้ไขปัญหาสังคมหลายข้อมาก เมื่อพรรคก้าวไกลได้ที่หนึ่ง เราก็ควรให้โอกาส ไม่ต้องคุยกันว่าคุณได้ที่หนึ่ง 98 เปอร์เซ็นต์ ผมได้ที่สอง 97.8 เปอร์เซ็นต์ แพ้ไป 0.2 เปอร์เซ็นต์”

“ผมคิดว่าเมื่อพรรคก้าวไกลชนะทั้งปาร์ตี้ลิสต์และแบ่งเขต และพรรคก้าวไกลได้แสดงความชัดเจนมากว่าจะปรับปรุงประเทศทางไหนบ้าง เพราะฉะนั้นเราก็ให้ไปเลย นำทั้งสภา นำทั้งฝ่ายบริหาร ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีก็ไปแบ่งกันเองตามความเหมาะสม”

“ประเด็นคือก้าวไกลมีศักดิ์ มีสิทธิ และมีอำนาจที่จะเป็นอยู่แล้ว เมื่อพรรคก้าวไกลยืนยันอย่างนี้ เพื่อไทยก็ควรจะฟัง และสังเกตว่าหลายวันมานี้เพื่อไทยไม่มีปัญหานี้ เพราะยอมรับให้ประธานสภาเป็นของก้าวไกล จนกระทั่ง 1-2 วันนี้ที่คุยกันและเปลี่ยนใหม่ ผมเลยตกใจและคิดไม่ถึงว่า ทำไมเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เพราะผมเชียร์เพื่อไทย อยากให้เพื่อไทยเป็นผู้แพ้อย่างมีสปิริต ยอมรับความพ่ายแพ้ ส่งสารแสดงความยินดีกับก้าวไกล มีน้ำใจนักกีฬา”

“ประธานสภาต้องมีหน้าที่เป็นหัวหน้าเสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง ถ้าก้าวไกลได้เป็นประธานสภา โอกาสที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ ก็สูง แต่ถ้าเขาไม่ได้ประธานสภาแล้วใครจะมีหลักประกันว่าได้นายกฯ หรือเปล่า โอกาสเป็นก็ไม่แน่นอนแล้ว”

“พรรคก้าวไกลเสนอแก้กฎหมายไม่รู้กี่ข้อ และก้าวไกลบ่นมากว่า 4 ปี ที่คนบอกว่า ชวน หลีกภัย อดีตประธานสภาเป็นกลางนั้นไม่จริง ยกมือขอพูดก็ไม่เห็นตลอด

ถ้ามีคนไม่ให้พูดเลย คุณจะรู้สึกอย่างไร เพราะฉะนั้น ก้าวไกลจึงมีความรู้สึกมากว่า ตำแหน่งประธานสภาต้องคุมได้ นี่คือเหตุผลสำคัญ ไม่อย่างนั้นแก้กฎหมายอะไรก็ไม่ผ่าน กลายเป็นยัดไส้เอากฎหมายนี้ไว้ก่อนไว้หลัง หรือพูดในสภาก็ไม่ให้พูด มองไม่เห็น ไม่ยกมือให้ หรือขึ้นไปพูดก็บอกหมดเวลา ลงได้แล้วอย่างนี้”

“ก้าวไกลจึงจำเป็นต้องเป็นประธานสภาเพื่อการนำที่เป็นเอกภาพ เป็นหนึ่งเดียว ประสานเสียงกันระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายสภา และนำประเทศไทยไทยไปสู่รัฐที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ไม่ต้องกลับมาทำรัฐประหาร ไม่ต้องเป็นเผด็จการอีกแล้ว บ้านเมืองจะได้รุ่งโรจน์ สมกับที่คนรุ่นใหม่คนหนุ่มสาวกำลังใฝ่ฝันอยู่เวลานี้”

 

ข่าวทั่วไปอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ที่มาของบทความ

 

ติดตามอ่านข่าวทั่วไปได้ที่ pleodinosaur.com

สนับสนุนโดย  ufabet369